วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กรมอาเซียนมั่นใจไทยพร้อมรับ AEC 2558​

 
กรมอาเซียนเผยไทยเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอา เซียนแล้วร้อยละ70 ยอมรับช้ากว่าประเทศอื่น แต่มั่นใจว่าไทยเตรียมตัวได้ทันก่อนปี 2558 
ในการเสวนาประชาคมอาเซียน 2015: ภาพในมายาคติกับความเป็นจริง นางบุษฎี สันติพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้มากกว่าร้อยละ70 แล้ว และเชื่อมั่นว่าไทยจะเข้าสู่ AEC ได้ทันแน่นอน เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีความได้เปรียบด้านพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีโครงสร้างแผนแม่บทของประเทศที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้ยอมรับว่า แม้ไทยจะเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น แต่มีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง 
รองศาสตราจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวเสวนาในหัวข้อ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 กับปัญหาภายในของประเทศสมาชิก" ว่า ประเทศพม่าในช่วงหลัง มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ใน3ประเด็นหลัก ได้แก่ รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับความมั่นคงเศรษฐกิจมากขึ้น เทียบเท่ากับปัจจัยความมั่นคงทางทหารและการเมือง รองลงมาคือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศของพม่าที่มีการเลือกฝักฝ่าย และปัญหาที่มาของอำนาจรัฐ เนื่องจากพม่าปกครองแบบเผด็จการมากว่า 50 ปี แม้จะเปิดประเทศแล้ว แต่ทหารยังครองอำนาจอยู่ ดังนั้นแม้ประเทศพม่าจะเปิดโอกาสให้นานาชาติเข้าประเทศมากขึ้น  มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการลงทุน แต่พม่ายังต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมอีก 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระ นุชเปี่ยม ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญด้านแม่โขงศึกษา กล่าวว่า เวียดนามเคยเป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เวียดนามประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและค่าเงินด่องที่อ่อนตัวลง ทำให้หลายประเทศเกิดความลังเลที่จะเข้ามาลงทุน  ดังนั้นการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ถือเป็นโอกาสที่เวียดนามจะดึงดูดนักลงทุนให้กลับสู่ภาวะปกติ ภายใต้ความเสี่ยงด้านระบบการเมืองในประเทศที่ยังใช้ระบบสั่งการอยู่  
ด้านนางวัชรินทร์ ยงศิริ นักวิชาการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า ประเทศกัมพูชา มีปัญหาภายในประเทศ เช่น รัฐบาลที่บริหารโดยพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP มีความเข้มแข็ง เนื่องจากครองเสียงข้างมากในสภามากกว่าร้อยละ90 ทำให้กัมพูชามีแนวโน้มเป็นเผด็จการในรัฐสภา นอกจากนี้ยังออกกฎหมายอาญาฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ ในเดือนธันวาคม 2553 ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น หากประชาชนจะเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลต้องดำเนินการในพื้นที่ที่จัดไว้ให้เท่า นั้น ดังนั้นกัมพูชา ยังคงมีปัญหาภายในโดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กัมพูชาอาจไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ขอบคุณ : Vilasinee

ไม่มีความคิดเห็น: