วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เเนะปรับตัวรับประชาคมอาเซียน 2558

พม่าเตรียมสร้างสนามบินนานาชาติย่างกุ้งแห่งที่ 2 ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ตาม รายงานข่าวเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลพม่ากำลังมีโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ขึ้นในเมืองย่างกุ้ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตามรายงาน ของกระทรวงการท่องเที่ยวเปิดเผยว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ต่อปี นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปประเทศในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้ง นี้กรมการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กระทรวงการคมนาคมแห่งประเทศพม่า ได้มีการออกมาชี้แจงว่า ในเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการคมนาคมทางอากาศ โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนสนามบินนานาชาติเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทาง เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งสถานที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดคือ เมืองย่างกุ้ง
มี รายงานว่า พื้นที่โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ จะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ขึ้น-ลงเครื่องบินรบของทหารญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมทั้งในด้านทำเลที่ตั้งและอยู่ใกล้กับ เมืองสำคัญหลายแห่ง
นอก จากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลพม่ากำลังมองหาผู้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เป็นโครงการระยะยาว เพราะนอกจากโครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่แล้ว ยังมีโครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบต่าง ๆ ภายในสนามบินอีกหลายแห่งในประเทศ เนื่องจากขณะนี้เริ่มทรุดโทรมและไม่มีความทันสมัย

กรมอาเซียนมั่นใจไทยพร้อมรับ AEC 2558​

 
กรมอาเซียนเผยไทยเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอา เซียนแล้วร้อยละ70 ยอมรับช้ากว่าประเทศอื่น แต่มั่นใจว่าไทยเตรียมตัวได้ทันก่อนปี 2558 
ในการเสวนาประชาคมอาเซียน 2015: ภาพในมายาคติกับความเป็นจริง นางบุษฎี สันติพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้มากกว่าร้อยละ70 แล้ว และเชื่อมั่นว่าไทยจะเข้าสู่ AEC ได้ทันแน่นอน เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีความได้เปรียบด้านพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีโครงสร้างแผนแม่บทของประเทศที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้ยอมรับว่า แม้ไทยจะเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น แต่มีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง 
รองศาสตราจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวเสวนาในหัวข้อ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 กับปัญหาภายในของประเทศสมาชิก" ว่า ประเทศพม่าในช่วงหลัง มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ใน3ประเด็นหลัก ได้แก่ รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับความมั่นคงเศรษฐกิจมากขึ้น เทียบเท่ากับปัจจัยความมั่นคงทางทหารและการเมือง รองลงมาคือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศของพม่าที่มีการเลือกฝักฝ่าย และปัญหาที่มาของอำนาจรัฐ เนื่องจากพม่าปกครองแบบเผด็จการมากว่า 50 ปี แม้จะเปิดประเทศแล้ว แต่ทหารยังครองอำนาจอยู่ ดังนั้นแม้ประเทศพม่าจะเปิดโอกาสให้นานาชาติเข้าประเทศมากขึ้น  มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการลงทุน แต่พม่ายังต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมอีก 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระ นุชเปี่ยม ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญด้านแม่โขงศึกษา กล่าวว่า เวียดนามเคยเป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เวียดนามประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและค่าเงินด่องที่อ่อนตัวลง ทำให้หลายประเทศเกิดความลังเลที่จะเข้ามาลงทุน  ดังนั้นการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ถือเป็นโอกาสที่เวียดนามจะดึงดูดนักลงทุนให้กลับสู่ภาวะปกติ ภายใต้ความเสี่ยงด้านระบบการเมืองในประเทศที่ยังใช้ระบบสั่งการอยู่  
ด้านนางวัชรินทร์ ยงศิริ นักวิชาการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า ประเทศกัมพูชา มีปัญหาภายในประเทศ เช่น รัฐบาลที่บริหารโดยพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP มีความเข้มแข็ง เนื่องจากครองเสียงข้างมากในสภามากกว่าร้อยละ90 ทำให้กัมพูชามีแนวโน้มเป็นเผด็จการในรัฐสภา นอกจากนี้ยังออกกฎหมายอาญาฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ ในเดือนธันวาคม 2553 ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น หากประชาชนจะเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลต้องดำเนินการในพื้นที่ที่จัดไว้ให้เท่า นั้น ดังนั้นกัมพูชา ยังคงมีปัญหาภายในโดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กัมพูชาอาจไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ขอบคุณ : Vilasinee

สรรพสามิตตื่นตัวเก็บเพิ่มภาษีเหล้า รับ AEC

กรมสรรพสามิตตื่นตัวรับเออีซี เล็งชงคลังไฟเขียวออก พ.ร.ก. เก็บภาษีจากราคาขายปลีก จากปัจจุบันเก็บจากราคาหน้าโรงงาน ระบุไม่เร่งแก้ไข ประเทศจะเสียหาย-รายได้ภาษีวูบ
           
            นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 คณะ เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58  ประกอบด้วย 1. คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ 2. คณะทำงานพิจารณาเรื่องของกระบวนการด้านกฎหมาย ว่าต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรหรือไม่ 3. คณะทำงานด้านพัฒนาบุคลากร และ 4. คณะทำงานพิจารณาด้านโครงสร้างองค์กร

            ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่า เมื่อมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 การเก็บภาษีสรรพสามิตจากราคาหน้าโรงงานจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจาก ปกติถ้าเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ก็จะมีการคิดราคาซีไอเอฟ บวกกับค่าอากรของกรมศุลกากร นั้นจากก็เอามาคำนวณรวมเพื่อคิดเป็นอัตราภาษีสรรพสามิต แต่เมื่อเปิดเสรีฯ อาเซียน ภาษีจากสินค้านำเข้าจะเป็น 0% ในทันที ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้กรมสรพสามิตเกิดปัญหาจากการจัดเก็บภาษี เพราะเม็ดเงินจากภาษีดังกล่าวก็จะหายไป และฐานการจัดเก็บของกรมฯ ก็จะเล็กลง

            อย่างไรก็ตาม ได้มีการหารือร่วมกันภายในกรมสรรพสามิต และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า กรมสรรพสามิตอาจจะขอจัดเก็บภาษีบางส่วนเอง รวมถึงพิจารณาด้วยว่าอัตราภาษี 0% ควรจะเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ในเบื้องต้นเห็นว่าควรจะปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากราคาหน้าโรงงาน เป็นจัดเก็บจากราคาขายปลีกทั้งหมด จะเป็นการดีที่สุด ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลและศึกษารายละเอียดต่างๆ

            นางเบญจา กล่าวต่อว่า ทางกรมสรรพสามิตจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงการคลังได้พิจารณา รวมถึงนำเสนอแนวทางการดำเนินงานรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากเปิดเสรีประชาคมฯ ด้วย คือ กรมสรรพสามิต ก็จะออกเป็น พ.ร.ก. เพื่อปรับแก้ไขเฉพาะบางจุดด้านราคา ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าหากจะรอแก้ไขกฎหมายทั้งหมด

            ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตเห็นว่า หากไม่มีการดำเนินการออก พ.ร.ก.เพื่อปรับแก้ไขการจัดเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงาน เป็นราคาขายปลีก เมื่อมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 ประเทศก็จะเกิดความเสียหายตามมา รายได้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตก็จะหาย อีกทั้งหากไม่ดำเนินการ ปัญหาซีไอเอฟก็จะเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อไป

             “กรมฯ จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเกี่ยวกับการออกกฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากราคาหน้าโรงงาน เป็นราคาขายปลีก ซึ่งถ้าเราไม่ทำประเทศก็จะได้รับความเสียหาย เมื่อมีการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 รายได้ภาษีของกรมฯ ก็จะหายไป เพราะภาษีนำเข้าเป็น 0%” นางเบญจา กล่าว

ไปรษณีย์ไทย ดันสินค้าโอทอปรับ ”เออีซี”

ไปรษณีย์” พร้อมรับศึกเออีซี ลุยเต็มสูบธุรกิจโลจิสติกส์-อีคอมเมิร์ซ เน้นสนองนโยบายรัฐ ปั้นที่ทำการไปรษณีย์ช่วยเหลือชาวสวนกระจายผลิตผลและสินค้าโอทอป

นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ ประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นั้น นับเป็นโอกาสที่ดีของไปรษณีย์ที่จะนำศักยภาพด้านการให้บริการมาพัฒนาและเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร โดยไปรษณีย์ได้เตรียมความพร้อมไว้รองรับในหลายๆด้าน โดยเฉพาะด้านธุรกิจโลจิสติกส์ ในเบื้องต้นได้มีการเจรจาขยายความร่วมมือไปยังการไปรษณีย์ของประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อร่วมมือกันขนส่งและกระจายสินค้าระหว่างกัน

ปรับโฉมที่ทำการไปรษณีย์สู่ไฮเทค

อีกทั้งอาจขยายความร่วมมือไปยังญี่ปุ่น จีน เกาหลีด้วย เพื่อความแข็งแกร่งของไปรษณีย์ไทย และยังได้จ้างการไปรษณีย์ฝรั่งเศสเป็นที่ปรึกษาในการศึกษาลู่ทางการร่วมลงทุนกันพันธมิตรต่างๆ รวมถึงการวางแผนแนวทางการพัฒนาธุรกิจไปรษณีย์ไทยเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพราะเชื่อว่าภาคบริการจะมีการแข่งขันสูงเมื่อมีการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังจะขยายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ให้มากยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจผ่านระบบอินเตอร์เน็ตหรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในวงกว้าง เนื่องจากสะดวกสบาย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ดังนั้น กลุ่มธุรกิจดังกล่าวจึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งของไปรษณีย์ไทย
ขณะเดียวกันจะพัฒนาที่ทำการไปรษณีย์ไทยให้มีบริการอินเตอร์เน็ตเพื่อบริการประชาชนด้วยสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึง โดยไปรษณีย์จะเดินหน้าให้ที่ทำการไปรษณีย์กว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศมีบริการไวไฟให้บริการด้วยเช่นกัน

“สิ่งสำคัญของไปรษณีย์ไทยขณะนี้คือการปรับระบบไอทีทั้งหมดให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพ เพราะระบบไอทีถือเป็นหัวใจสำคัญเช่นกันที่จะเชื่อมโยงธุรกิจ ทั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ, โลจิสติกส์, การเชื่อมโยงกับไปรษณีย์เพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันระบบไอทียังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น บอร์ดและฝ่ายบริหารจะต้องเร่งปรับปรุงให้ดีมีประสิทธิภาพ”

ปรับบทบาทกระจายสินค้าโอทอป

นอกจากนี้ ไปรษณีย์จะช่วยกระจายสินค้าเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญมากเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและช่วยลดพ่อค้าคนกลางในการกดราคาสินค้า โดยในส่วนของไปรษณีย์ก็จะช่วยจำหน่ายผลไม้ตามฤดูกาลต่างๆ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ลองกอง เป็นต้น หรือเมนูอาหารอร่อยทั่วไทยสั่งได้ที่ไปรษณีย์ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น อีกทั้งจะช่วยขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) อีกทางหนึ่งด้วย

นายเอนกกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากว่ามีการส่งจดหมายผิดบ้าน ทำให้เกิดความผิดพลาดในการชำระหนี้ โดยเฉพาะเรื่องบัตรเครดิต ซึ่งบอร์ดได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารไปเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่การส่งจดหมายผิดบ้านหรือไม่ตรงตามที่อยู่นั้น เป็นเพราะมีการจ้างพนักงานรายวันช่วยส่งจดหมาย เนื่องจากบุรุษ ไปรษณีย์ไทยส่วนใหญ่อายุมากใกล้เกษียณอายุ

“วิธีการที่จะแก้ไขปัญหานั้น ได้เสนอแนะการฝึกบุคลากรให้มีจิตสำนึกในการส่งจดหมายให้เหมือนบุรุษไปรษณีย์รุ่นก่อนๆ ขณะที่โรงเรียนการไปรษณีย์ก็จะขยายสาขาการเรียนด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขยายบริการของไปรษณีย์ จากปัจจุบัน เด็กที่เรียนจบจากโรงเรียนไปรษณีย์ มุ่งเน้นการทำงานในที่ทำการไปรษณีย์เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ต้องกำหนดหลักสูตรให้หลากหลายสอดคล้องกับภารกิจของไปรษณีย์ไทย

กลไกหลักปล่อยสินเชื่อชุมชน

สำหรับบริษัท สินเชื่อไปรษณีย์ไทย จำกัดนั้น ปล่อยสินเชื่อให้ชุมชนรากหญ้าที่เข้าไปไม่ถึงแหล่งทุนนั้น ที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบให้ยุติการดำเนินการดังกล่าว และทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงการคลังเพื่อขอยกเลิก เนื่องจากเห็นว่ามีความซ้ำซ้อนกับธนาคารที่ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้กับรากหญ้าไปแล้ว ขณะเดียวกัน ขอเปลี่ยนเป็นการจัดตั้งบริษัทโลจิสติกส์ ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อเดินหน้าธุรกิจโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท คาดว่าภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า น่าจะมีความชัดเจน

สำหรับการจัดตั้งบริษัท โลจิสติกส์ ไปรษณีย์ไทย น.ส.อานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย กล่าวว่า ในปี 2555 ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะมีรายได้รวม 17,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 850 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาการให้บริการและเจาะตลาดทุกรูปแบบเพื่อสร้างรายได้ ขณะเดียวกันก็ใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่สร้างมูลค่า ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 18,500 ล้านบาท มีที่ทำการไปรษณีย์ 1,300 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานทั้งหมด 22,000 คน

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ได้ฝึกให้พนักงานทุกคนแสดงศักยภาพในการทำงานให้มากที่สุด เพราะถือเป็นบุคลากรที่คุณภาพที่จะช่วยสร้างรายได้และทำให้องค์กรแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะแข่งขันเมื่อมีการเปิดเสรี โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 และการร่วมเป็นพันธมิตรกับการไปรษณีย์ต่างประเทศ.



วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เอกชนจีนเล็งกว้านซื้อที่สองแควรับเออีซี


นายสัญชัย ฐิติปุญญา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก กล่าวถึงการเชิญนายวิชัย วิทยฐานกรณ์ คณะอนุกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ยูนนานและจีนตอนใต้ มาให้ความรู้กับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ จ.พิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อต้องการกระตุ้นเตือนผู้ประกอบการนักธุรกิจ และสถานศึกษาเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ว่าเราจะเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งขายเพื่อรับผลประโยชน์ การเตรียมตัวเพื่อต่อสู้กับการแข่งขันโดยเฉพาะประเทศจีน จะมีการผลักดันคนเป็นล้านคนให้ออกมากว้านซื้อที่ดินในประเทศไทยหลายจุดโดยเฉพาะ จ.พิษณุโลก โดยอาจมาซื้อในรูปของเอกชนนักลงทุนจากจีน หรือเป็นนอมินี ซื้อที่ดิน เพื่อรับผลประโยชน์ตั้งธุรกิจในประเทศไทยแล้ว จึงต้องการให้เวทีการหารือครั้งนี้สะท้อนปัญหาให้ภาครัฐช่วยหามาตรการป้องกันก่อนที่ดินจะอยู่ในมือของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ เรื่องวัตถุดิบ อย่างสมุนไพรไทย ควรมีการอนุรักษ์เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าไทยในอนาคต สิ่งที่น่าเป็นห่วง นอกจากปริมาณคนจากหลากหลายประเทศจะเข้ามาได้อย่างเสรีแล้วสินค้ามากมายราคาถูกกว่าของไทย
นายวิชัยกล่าวว่า ด้วยจำนวนประชากรจีนที่มีมากกว่า 1.3 พันล้านคน พื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทั้งหมดใหญ่ที่สุดในโลก มีสภาพการแข่งขันที่สูง มีการใช้เงินซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อธุรกิจและผลประโยชน์ จึงน่าวิตกว่าคนไทยไม่เตรียมตัวทำอะไรในอนาคตหรือยัง ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นเพียงลูกจ้างในการผลิตแต่ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจเลย

เออีซี กระทรวงการคลังเร่งขยายด่านชายเเดน


กระทรวงการคลังเร่งพัฒนาปรับปรุงด่านชายแดนต่าง ๆ โดยเฉพาะด่านสะเดา จ.สงขลา ที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากว่า 300,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจการปฏิบัติงานด่านศุลกากรสะเดา เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ รองรับการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยในแต่ละปีด่านสะเดามีมูลค่าการนำเข้า -ส่งออก ประมาณ 300,000 ล้านบาท หรือ 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมด
สำหรับการพัฒนา ในระยะสั้นจะเร่งเพิ่มจุดตรวจเอกสารนักท่องเที่ยว ขยายถนนและสร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อลดการจราจรที่ติดขัด ขณะที่ระยะต่อไปจะก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่
นอกจากนี้นายกิตติรัตน์ยังได้ติดตามโครงการด่านศุลกากรบ้านประกอบ จังหวัดสงขลา ส่วนขยายระยะที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้ง 9 จุด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการค้าการลงทุน ก่อนที่ไทยจะเข้าสู่การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า
รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าการดำเนินงานยังมีปัญหาความล่าช้าในการจัดสรรงบประมาณก่อสร้าง และค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงการเวนคืนที่ดิน ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านบางส่วนไม่ยอมเจรจา บางส่วนยังติดปัญหาด้านกฎหมาย และการปฏิบัติตามระบบราชการเดิม จึงต้องเร่งทำความเข้าใจให้ทุกส่วนราชการบูรณากาทำงานร่วมกัน โดยจะเร่งหารือกับกระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณ และย้ำว่าการดำเนินการต่าง ๆ จะให้มีความเป็นธรรม